โครงการส่งเสริมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
บทนำตามแนวพระราชดำริองค์มหาราชาแห่งเมืองสยาม
การจัดการป่าไม้ยั่งยืน : ปลูกป่าทดแทนบริเวณต้นน้ำลำธาร
ด้วยทรงตระหนักในสมดุลของธรรมชาติอย่างลึกซึ้งได้ทรงดัดแปลงวิธีการสร้างป่าเพื่อการยังชีพของประชาชน อันแฝงประโยชน์ทั้งด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำไว้ด้วย ทรงเน้นวิธีการฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรมเพื่อให้ได้ป่าธรรมชาติดั้งเดิมในเวลาที่รวดเร็ว ด้วยวิธีที่เรียบง่ายประหยัด ทรงเริ่มปรับสภาพที่เอื้ออำนวยให้เกิดป่าขึ้นก่อนและพระราชทานแนวทางในการปลูกป่าทดแทนตามแหล่งต้นน้ำสาขาบนภูเขา ตลอดจนบริเวณอ่างเก็บน้ำและพื้นที่ทั่วไป ดำเนินการอยู่บนพื้นฐานของกฎแห่งธรรมชาติ อาศัยวงจรชีวิตของป่า ให้ป่าได้มีเวลาในการสร้างตัวเองขึ้นใหม่เพื่อมีสภาพเป็นป่าธรรมชาติ วิธีการปลูกป่าตามแนวพระราชดำริ ได้แก่ การปลูกป่าจากดินเขาหรือไหล่เขาสู่เชิงเขา การปลูกป่าบนพื้นที่สูง โดยทรงคำนึงถึงธรรมชาติของต้นไม้บางชนิดที่มีฝักหรือเมล็ดสามารถกระจายพันธุ์ได้เองตามธรรมชาติ เช่น ลอยตกลงจากสันเขาลงมายังที่ต่ำ หรืออาศัยนกบินมากินเมล็ดแล้วไปถ่ายตามที่ต่างๆ เมื่อเมล็ดเหล่านั้นได้รับน้ำและความชื้นในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ก็จะงอกเป็นต้นอ่อนและเจริญเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ อันเป็นการปลูกป่าโดยไมต้องปลูก (Natural Reforestation) เพียงแต่ควบคุมมิให้มีคนเข้าไปรบกวน ป้องกันมิให้เกิดไฟป่า และปล่อยให้ป่าได้ค่อยๆ ฟื้นตัวเองตามธรรมชาติ เมื่อทิ้งช่วงเวลาไว้ระยะหนึ่ง พรรณไม้ต่างๆ ก็จะค่อยเจริญเติบโตขึ้นเป็นสภาพป่าที่หนาทึบและสมบูรณ์ในอนาคต
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช พระราชทานคำแนะนำถึงพันธุ์ไม้ที่จะนำมาปลูกป่าบนที่สูงนี้ว่า ควรเป็นพันธุ์ไม้ดั้งเดิมของภูมิประเทศนั้นๆ เป็นไม้มีเมล็ด ไม้ผลัดใบง่ายราคาถูก เช่น กระถินยักษ์ กระถินณรงค์ ไทร หว้า ตะขบ ฯลฯ รวมถึงทรงชี้แนะว่าเมล็ดของพันธุ์ไม้เหล่านี้ยังเป็นอาหารของสัตว์ป่า เท่ากับมีคุณูปการไปถึงการอนุรักษ์สัตว์ป่าด้วย
|