ประวัติตำบลเทพรักษาและองค์การบริหารส่วนตำบลเทพรักษา
ตำบลเทพรักษา เป็นตำบลที่แยกตัวออกจากตำบลดม เนื่องจากจำนวนประชากรเพิ่มจำนวนมากขึ้น ตามลักษณะการปกครองท้องที่ หากตำบลใดมีจำนวนประชากรที่มากพอสามารถจัดตั้งเป็นหมู่บ้านให้จัดตั้งเป็นหมู่บ้าน และหากตำบลใดมีจำนวนหมู่บ้านมากเกินการปกครองและเข้าหลักเกณฑ์ตามลักษณะการปกครองท้องที่ให้แยกเป็นตำบลอีกตำบลหนึ่ง ดังนั้นเมื่อ พ.ศ.2535 โดยนายบุญเรือง อุ้มทรัพย์ เป็นผู้ใหญ่บ้านตาพรามในขณะนั้นได้ขอแยกตำบล และได้นำชื่อของหมู่บ้านเทพรักษา มาเป็นชื่อตำบล เนื่องจากเป็นชื่อที่เป็นศิริมงคล
ปี พ.ศ.2538 ตำบลเทพรักษา ได้มีรูปแบบการปกครองท้องถิ่น เป็นรูปแบบการพัฒนาโดยการจัดตั้งเป็นสภาตำบล มีนานบุญเรือง อุ้มทรัพย์ กำนันตำบลเทพรักษา เป็นผู้บริหารคนแรก โดยมีหน้าที่ในการดำเนินการพัฒนาสิ่งสาธารณูปโภค และความจำเป็นอื่นๆ ตามอำนาจหน้าที่และเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2539 สภาตำบลที่มีรายได้โดยไม่รวมเงินอุดหนุนในปีงบประมาณ 2536 ถึง ปี 2538 เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 150,000 บาท จัดตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 2,143 แห่ง โดยในส่วนของจังหวัดสุรินทร์ มีสภาตำบลที่ได้รับจัดตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 49 แห่ง 1 ในนั้น คือ องค์การบริหารส่วนตำบลเทพรักษา โดยมีนายบุญเรือง อุ้มทรัพย์ เป็นประธานกรรมการบริหารฯคนแรก และปัจจุบันมีนายเต็ม สามสี เป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเทพรักษา และให้องค์การบริหารส่วนตำบล จัดทำรูปตราเครื่องหมายประจำองค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อใช้หลักฐานต่างๆในการปฏิบัติงานขององค์การบริหารส่วนตำบล
ตราเครื่องหมายขององค์การบริหารส่วนตำบลเทพรักษา
เทพ หมายถึง ตัวแทนแห่งความดี มีคุณธรรม
พนม หมายถึง การมีไมตรีจิต การไหว้ การต้อนรับ การมาเยือนของอาคันตุกะ
เทพพนม หมายถึง หมู่บ้านที่เปี่ยมไปด้วยจิตใจที่ดีงาม ปฏิบัติตัวอยู่ในธรรมะ วัฒนธรรม
กำหนดให้ “สีม่วง” เป็นสีประจำองค์การบริหารส่วนตำบลเทพรักษา
ข้อมูลจากการขอจัดตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลเทพรักษา ประจำปี 2539 [แก้ไข 2563]
นายธีรศานติ์ น้องดี เป็นผู้รวบรวม
ประวัติหมู่บ้านเทพรักษา
ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน ประมาณ พ.ศ.2510 เดิมชื่อว่าบ้านโคกเคาะ ซึ่งเป็นหมู่บ้านฝากของบ้าน ชำเบง หมู่ที่ 5 ซึ่งมีบุคคลกลุ่มแรกที่มาเริ่มก่อตั้ง หมู่บ้านเมื่อ พ.ศ.2510 คือ นายโฮ เสกงาม มาจากบ้านชำเบง เนื่องจากบ้านอยู่ไกลจากที่ดินทำกิน จึงย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากอยู่ที่สวนและต่อมามีนายพอเกลี้ยง พาสวัสดิ์ อพยพมาจากบ้านเสรียง ตำบลบ้านชบ อำเภอสังขะ และมีนายคืน ยิ่งดี นายแทน โสรจันทร์ นายเสาร์ เกตวิจิตร และนายเรียน โสรจันทร์ ซึ่งทั้งหมดนี้ย้ายมาจากบ้านชำเบง เพื่อมาจับจองที่ดินทำกิน เมื่อเริ่มมีบ้านหลายหลังคาเรือน จึงได้ก่อตั้งเป็นหมู่บ้านและได้ตั้งชื่อว่า “บ้านโคกเคาะ” และได้มีการพัฒนาการสร้างถนนทางเกวียนเพื่อใช้ในการสัญจรไปมาให้สะดวกขึ้น ต่อมาในปี พ.ศ.2532 ชุมชนบ้านโคกเคาะ ได้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้าน “บ้านเทพรักษา” และในปี พ.ศ.2535 ตำบลเทพรักษา ได้แยกตำบลเป็นอีกตำบลหนึ่งในประเทศไทย โดยใช้ชื่อว่า “ตำบลเทพรักษา” ซึ่งได้แยกตำบลออกจากตำบลดม อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์
บ้านเทพรักษา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของจังหวัดสุรินทร์ อยู่ห่างจากอำเภอสังขะประมาณ 23 กม. และห่างจากจังหวัดสุรินทร์ ประมาณ 74 กม. มีเนื้อที่ ประมาณ 3,312 ตารางกิโลเมตร
สภาพภูมิศาสตร์ เป็นที่ราบสูง มีเขตติดต่อกับชายแดนไทย-กัมพูชา ลักษณะดินเป็นดินร่วนปนทรายพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สาธารณะการเกษตรประชาชนยังไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกิน แต่มีการจับจองถือครองที่ดิน ส.ป.ก.ป่าไม้ ซึ่งเมื่ออดีตเคยอุดมสมบูรณ์ ปัจจุบันถูกจับจองเป็นที่ดินปลูกพืชไร่ ส่วนที่ดินสาธารณะเป็นทุ่งหญ้ากว้างใช้เป็นที่เลี้ยงสัตว์ของบ้านส่วนหนองน้ำที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติถูกถมดินเป็นที่ทำกิน บางส่วนที่เหลือมีการบูรณะประโยชน์เพื่อใช้บริโภคและอุปโภคของประชาชน
ข้อมูลจากแผนชุมชนบ้านเทพรักษา [5 พฤษภาคม 2550]
นางสาวปานตา สูงยิ่ง ผู้สำรวจ
ประวัติหมู่บ้านกะเลงเวก
ประวัติศาสตร์ชุมชน ชื่อบ้านกะเลงเวกเป็นต้นไม้ชนิดหนึ่ง ชาวบ้านเรียกกันว่า “ต้นกะเลงเวก” เป็นต้นไม้ยืนสูงประมาณ 10-20 เมตร เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ชอบงอกอยู่ตามริมห้วย ที่มาเป็นชื่อหมู่บ้านเพราะหมู่บ้านตั้งอยู่บริเวณห้วยกะเลงเวก เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2531 ชาวบ้านกะเลงเวกเดิมเป็นชาวบ้านตาตุม(เก่า)สาเหตุที่อพยพออกมาเนื่องจากถูกภัยคุกคาม จากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ เริ่มเมื่อ 1 ธันวาคม 2520 ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์เข้าจู่โจมหมู่บ้านอย่างหนักทำให้เจ้าหน้าที่ ตำรวจ ทหาร และราษฎรบ้านตาตุมเสียชีวิตจำนวนมาก พอถึงเช้าวันที่ 2 ธันวาคม 2520 ผู้ก่อการร้ายเข้าโจมตี ชาวบ้านจึงตัดสินใจอพยพออกจากหมู่บ้านไปอาศัยอยู่ในหมู่บ้านต่างๆเช่น บ้านดม บ้านภูมิโปน เป็นต้น ต่อมาเมื่อปี 2523 ทางราชการได้จัดสรรที่อยู่อาศัยชั่วคราวที่บ้านลันแต้ จนถึงปี 2530 ทางราชการจึงจัดสรรที่อยู่อาศัยและจัดที่ทำมาหากินให้ราษฎร จำนวน 100 ครอบครัว ครอบครัวละ 15 ไร่ ที่บริเวณห้วยกะเลงเวก จนถึงปัจจุบัน
บ้านกะเลงเวก ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 2 ตำบลเทพรักษา อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของอำเภอสังขะ ห่างจากตัวอำเภอสังขะประมาณ 22 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากจังหวัดสุรินทร์ ประมาณ 73 กิโลเมตร ภาพภูมิศาสตร์เป็นป่าทึบ มีลำห้วยและธารน้ำไหล พื้นที่เป็นที่ราบสูง ดินส่วนใหญ่เป็นดินทรายผสมลูกรัง ด้านสาธารณูปโภค ถนนที่เป็นถนนลูกรัง สร้างเมื่อปี 2531 ยาวประมาณ 20 กิโลเมตร ที่เป็นถนนลาดยาง สร้างเมื่อปี 2535 ยาวประมาณ 20 กิโลเมตร ถนนสายภายในหมู่บ้านเป็นถนนลูกรัง ยาวประมาณ 3 กิโลเมตร ไฟฟ้าเข้าหมู่บ้านเมื่อปี 2531 อาณาเขตติดต่อทิศเหนือ ติดต่อกับบ้านลันแต้ ทิศใต้ ติดต่อกับกัมพูชา ทิศตะวันออก ติดต่อกับบ้านชำปะโต ทิศตะวันตก ติดต่อกับบ้านทับทิมสยาม 04
ข้อมูลจากแผนชุมชนบ้านกะเลงเวก [5 ธันวาคม 2550]
นางสาวนิพาพร ควรงาม ผู้สำรวจ
ประวัติหมู่บ้านอามุย
ประวัติศาสตร์บ้านอามุยเดิมอยู่ในเขตการปกครองของตำบลดม อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ ต่อมาปี พ.ศ.2524 หรือประมาณ 126 ปี มาแล้ว ที่มาของชื่อหมู่บ้าน มีชายคนหนึ่งเดินทางผ่านมายังบ้านอามุยเกิดป่วยเป็นไข้มาลาเรียอย่างรุนแรงและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ทราบชื่อภายหลังว่าชื่อ “มุย” แต่คำว่า “อา” ในภาษาเขมรสุรินทร์ หมายความว่าผู้ชาย ส่วนคำว่า “โคก” หมายความว่าที่ราบสูง ชาวบ้านรุ่นแรกเรียกชื่อ “โคกอามุย” และมีความยาวมากยากต่อการเรียกต่อมาจึงเรียกบ้าน “อามย” และทางราชการได้เปลี่ยนเป็นบ้านอามุยในเวลาต่อมาและได้เรียกติดปากมาจนปัจจุบัน คนกลุ่มแรกที่เริ่มก่อตั้งหมู่บ้านคือ
1. นายปุ้ม ม่านทอง
2. นายโป๊ะ ม่านทอง
3. นายชำ ม่านทอง
4. นายวอย (ไม่ทราบนามสกุล) นักโทษหลบหนีจากเรือนจำจังหวัดสุรินทร์
คนกลุ่มที่ 2 ที่เริ่มก่อตั้งหมู่บ้านคือ
1, นายควร ที่ดี
2. นางยู ที่ดี
3. นายสอม เอี่ยมสะอาด
4. นายเปรม สุขสถิต
4. นายทับ หงส์แก้ว
5. นายเชือน บุญพร้อม
ลักษณะภูมิประเทศ
ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านสตึง ตำบลดม อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านภูมิโพธิ์ และบ้านดม ตำบลดม อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์
ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านตาพราม ตำบลเทพรักษา อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านตาแตรว ตำบลเทพรักษา อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์
ข้อมูลจากแผนชุมชนบ้านอามุย [5 พฤษภาคม 2550]
นางสาวภัทรศยา เทพนาค ผู้สำรวจ
ประวัติหมู่บ้านตาไทย
ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านตาไทย เดิมมีชื่อว่าบ้านนาตาไทย แต่ชื่อหมู่บ้านเรียกยากไปจึงเรียกให้สั้นลงเหลือชื่อบ้านตาไทย ซึ่งเป็นชื่อมาจากเจ้าของที่นาเก่าแก่ชื่อว่า “ตาไท” ส่วนภาษาในท้องถิ่นเรียกหมู่บ้านนี้ว่าชาวบ้าน “กันตวด” ซึ่งแปลว่ามะขามป้อมเพราะในบริเวณแห่งนี้มีต้นมะขามป้อมต้นใหญ่มากขึ้นอยู่บริเวณแห่งนี้ ชาวบ้านจึงเรียกหมู่บ้านนี้ตามชื่อของต้นไม้ในบริเวณนี้ ในอดีตมีคนกลุ่มแรกที่เริ่มก่อตั้งหมู่บ้านได้แก่ ครอบครัวตามินยายดวง ตาตึดยายแตระ ตาเปลี่ยนยายเชด และครอบครัวตาจันทร์ยายปุดซึ่งคนกลุ่มแรกที่มาอาศัยอยู่ได้อพยพมาจากบ้านตาพราม ตำบลเทพรักษา อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ หมู่บ้านตาไทเริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2531 เป็นหมู่บ้านที่แยกมาจากบ้านตาพราม เนื่องจากชาวบ้านโดยส่วนใหญ่มีพื้นที่ทำกินในบริเวณที่ตั้งบ้านตาไทในปัจจุบัน โดยคนกลุ่มแรกที่เข้ามาอยู่ต้องการมาอยู่ใกล้ที่ทำกินของตนเอง เนื่องจากการสัญจรไปมาระหว่างที่ทำกินกับบ้านตาพรามไม่สะดวกเท่าที่ควรและสาเหตุอีกประการหนึ่งคือต้องการขยับขยายจากชุมชนเก่าที่แออัด
บ้านตาไทมีอาณาเขตติดต่อกับบ้านอื่นๆดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับบ้านตาแตรว
ทิศตะวันออก ติดต่อกับบ้านไพรพยัคฆ์
ทิศใต้ ติดต่อกับบ้านชำเบง
ทิศตะวันตก ติดต่อกับบ้านตาแตรว
ด้านเศรษฐกิจ ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ทำไร่ ทำสวน ส่วนใหญ่รายได้มาจากการรับจ้างทั่วไป ส่วนหนี้สินชาวบ้านจะเป็นหนี้นายทุน ธกส.และองค์กรในหมู่บ้าน มีพื้นที่ทำการเกษตรประมาณ 2,000 ไร่
ประเพณี ชาวบ้านตาไทจะรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมทางศาสนาทุกวันสำคัญและจะทำบุญหมู่บ้านทุกปีในช่วงเมษายนจะมีการขนทรายเข้าวัดแต่บ้านตาไทยไม่มีวัดจึงขนทรายเดินรอบหมู่บ้านแทน มีการนิมนต์พระมาสวดในหมู่บ้านด้วย และในวันสารทชาวบ้านจะมีพิธีแซนโฎนตา(ทำบุญเลี้ยงผีบรรพบุรุษ)ภาษาที่ใช้สื่อสารคือ ภาษาเขมร
สภาพปัจจุบัน การคมนาคมเป็นถนนลูกรัง หินคลุก แต่เดินทางไม่สะดวกทั้งฤดูฝนและฤดูอื่นๆ
ข้อมูลจากแผนชุมชนบ้านตาไทย [5 พฤษภาคม 2550]
นายธีระเดช นิยมกล้า ผู้สำรวจ
ประวัติหมู่บ้านชำเบง
ประวัติศาสตร์หมู่บ้านชำเบง เมื่อร้อยปีกที่ผ่านมา ก่อนตั้งเป็นหมู่บ้านชำเบงนั้น อดีตชาวบ้านชำเบงได้ตั้งรกรากอยู่ที่ภูมิกวน ซึ่งเป็นเขตแดนอยู่ที่กัมพูชา ในสมัยนั้น มีชาวบ้านอยู่รวมกันประมาณ 200-300 คน จากการเล่าของผู้ใหญ่บ้าน ท่านเล่าให้ฟังว่า การอาศัยอยู่ของคนในสมัยนั้นอยู่กันอย่างเรียบง่าย ที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่จะประกอบด้วย ไม้ไผ่ ใบจากและหญ้าคา โดยจะใช้ไม้ไผ่เป็นโครงเรือน ใบจากใช้เป็นฝา ใช้หญ้าคามุงเป็นหลังคา การอยู่รวมกันส่วนใหญ่จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มและเป็นครอบครัวใหญ่ มีการอยู่อาศัยพึ่งพิงซึ่งกันและกัน การประกอบอาชีพส่วนใหญ่ในสมัยนั้น ชาวบ้านมีอาชีพล่าสัตว์เป็นอาหาร ยังไม่มีการเลี้ยงสัตว์ไว้เป็นอาหาร ทรัพยากรส่วนใหญ่อุดมสมบูรณ์ ตั้งถิ่นฐานใกล้กับแหล่งน้ำ ในสมัยก่อนการสาธารณสุขในสมัยนั้นยังไม่มีการขับถ่ายหรือการทิ้งสิ่งของหรือของเสีย ส่วนใหญ่ทิ้งไม่ถูกอนามัยบ้างก็ทิ้งของเสียต่างๆลงในแหล่งน้ำที่ตนเองใช้อุปโภคบริโภค เป็นสาเหตุให้เกิดโรคระบาด นั่นก็คือโรคอหิวาตกโรค โรคมาลาเรีย และโรคอื่นๆอีกมากมายซึ่งสมัยก่อนยังไม่มียารักษาโรคให้หาย ทำให้ชาวบ้านล้มตายจำนวนมาก จึงพากันอพยพย้ายถิ่นฐานเดิมไปอยู่ที่ “เชอคารตึง” ซึ่งเป็นเขตแดนที่อยู่ในไทย ต่อมาอยู่ได้ไม่นานก็เกิดโรคระบาดอีกระรอกหนึ่ง ทำให้ชาวบ้านแต่ละคนแต่ละกลุ่มอพยพไปอยู่ที่อื่นซึ่งบางกลุ่มย้ายไปอยู่ที่ “ภูมิกรลอ” ไปอยู่ที่ “ภูมิตาตุม” “ภูมิจันตี” ส่วนชาวบ้านชำเบงไปอยู่ที่ “ภูมิสตู” แต่อยู่ได้ไม่นานก็อพยพถิ่นฐานมาอยู่ที่บ้านชำเบง หมู่ที่ 5 ตำบลเทพรักษา อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งมีภูมิประเทศคล้ายคลึงกับถิ่นฐานเดิม มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีป่าไม่นานาพันธ์ มีสัตว์ป่าชุกชุม และมีแม่น้ำลำธารไหลผ่านตลอดทั้งปี และบริเวณที่ลุ่มเหมาะสำหรับทำการเกษตร เพราะในที่ลุ่มมีน้ำซับตลอดทั้งปี
ข้อมูลจากแผนชุมชนบ้านชำเบง [5 พฤษภาคม 2550]
นางสุภาวดี เป็นดี ผู้สำรวจ
ประวัติหมู่บ้านลันแต้
บ้านลันแต้ หมู่ที่ 6 ตำบลเทพรักษา อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ใดไม่แน่ชัด ในอดีตหลายร้อยปีที่ผ่านมา ชาวบ้านลันแต้ได้ตั้งถิ่นฐานหมู่บ้านอยู่ที่เชิงเขาพนมดงรัก ติดเขตประเทศกัมพูชา ต่อมาได้เกิดโรคระบาดอย่างรุนแรง จึงได้อพยพราษฎรในหมู่บ้านเดินทางลงมาทางทิศเหนือ โดยมีนายทองกับนางแมะ ไม่ทราบนามสกุลเป็นผู้นำในการเดินทาง ได้มาพบเห็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเกษตร จึงได้ชักชวนเพื่อนบ้านมาอยู่ด้วยกัน และได้ตั้งถิ่นฐานอยู่มาจนถึงปัจจุบัน บริเวณพิกัด ยูบี 788011 ห่างจากชายแดนไทย-กัมพูชาประมาณ 15 กม. โดยให้หมู่บ้านลันแต้ขึ้นการปกครองตรงต่อตำบลบ้านดม อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์
คำว่า “ลันแต้” เป็นภาษาเขมร หมายถึง ดอกสเตเล (ในภาษาไทย) ซึ่งมีอยู่มากมายในหมู่บ้าน เป็นดอกไม้สีขาวที่มีกลิ่นหอมฟุ้งกระจายไปทั่ว คนเฒ่าคนแก่แต่โบราณนิยมเก็บมาทัดหู ชาวบ้านจึงนำเอาสัญญาลักษณ์ของดอกไม้มาเป็นชื่อของหมู่บ้านตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
เมื่อปี พ.ศ.2521 ประเทศกัมพูชาได้เกิดการสู้รบกันขึ้น ทำให้ราษฎรชาวกัมพูชาได้อพยพหลบภัยหนีเข้ามาพึ่งพาอาศัยในประเทศไทย เป็นเหตุให้ราษฎรบ้านกะเลงเวกและบ้านตาตุมได้รับความเดือดร้อนต้องอพยพราษฎรในหมู่บ้านมาพึ่งอาศัยอยู่บ้านลันแต้ ก่อให้เกิดปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการปกครอง ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2522 ทางราชการจึงประกาศจัดตั้งเป็นหมู่บ้าน ปชด. และเมื่อในปี พ.ศ.2532 ราษฎรชาวกัมพูชาได้อพยพกลับประเทศ จึงทำให้ราษฎรในหมู่บ้านลันแต้ได้อยู่อย่างสงบสุขเมื่อราษฎรมีความปลอดภัยหน่วยงานทางราชการจึงได้มีการแบ่งเขตการปกครอง โดยให้หมู่บ้านลันแต้แยกการปกครองออกจากตำบลบ้านดม จัดให้มีการเลือกตั้งผู้นำหมู่บ้าน/ผู้ใหญ่บ้าน นายสิน ทองผง เป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้าน และให้มีนามเรียกขนานหมู่บ้านว่า “ลันแต้” หมู่ที่ 6 ต.เทพรักษา อ.สังขะ จ.สุรินทร์ และจากนั้นผ่านมาเป็นเวลา 208 ปี ก็มีผู้ใหญ่บ้านคนใหม่ ชื่อ นายยัด เอิบสุข ดำรงตำแหน่งแทนจนถึงปัจจุบัน
ข้อมูลจากแผนชุมชนบ้านลันแต้ [5 พฤษภาคม 2550]
นายอดิศักดิ์ เอิบสุข ผู้สำรวจ
ประวัติหมู่บ้านศาลา
ประวัติศาสตร์บ้านศาลาก่อนที่จะได้ชื่อว่าหมู่บ้านศาลานั้นที่ตั้งของหมู่บ้านเดิม มีชื่อว่า “ภูมิสวาย” ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้านศาลาในปัจจุบัน ตอนนั้นนายสวรรค์(ไม่ทราบนามสกุล) ได้พากันบุกเบิกพื้นที่เพื่อทำกิน ได้พากันคุดลอกคลองส่งน้ำจากหนองขนานเพื่อเอาน้ำมาทำนา ในหน้าฝนน้ำท่วมหมู่บ้านเพราะตั้งอยู่ในที่ลุ่ม ชาวบ้านจึงได้พากันอพยพย้ายถิ่นมาตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของภูมิสวาย ซึ่งเป็นที่เนิน มีชื่อเรียกว่า “ภูมิกนาล” หรือภูศาลา เหตุที่เรียกทั้งสองชื่อก็เพราะว่า สมัยนั้นได้มีเจ้าหน้าที่ของบ้านเมืองได้มาสร้างศาลาพักตรงเนินภูมิกนาล เพื่อปราบโจรผู้ร้าย พอเจ้าหน้าที่ย้ายออกไปได้ทิ้งศาลาพักไว้เป็นสาเหตุให้ชาวบ้านเรียกว่า ภูมิศาลา ในช่วงนั้นชาวบ้านได้มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านคนแรกของหมู่บ้าน มีชื่อว่านายเบ็น(ไม่ทราบนามสกุล) ดำรงตำแหน่งนานเท่าไรมาทราบแน่ชัด ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 2 คือ นายคง ยิ่งดี ในสมัยนั้นเกิดโรคระบาด มีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านเกิดความหวาดกลัวและได้พากันอพยพย้ายถิ่นฐานอีกครั้ง มาตั้งอยู่บนเนินโคกตะแบก ซึ่งเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านศาลาในปัจจุบัน เข้าใจว่าบ้านศาลาเอาชื่อมาจาก ภูมิศาลา นั่นเอง ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 3 มีชื่อว่า นายมาก ธรรมสุข ดำรงตำแหน่งนานเทาไรไม่ทราบแน่ชัด ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 4 มีชื่อว่านาย ปน ภูผา ดำรงตำแหน่งได้ 3 เดือน ในปี พ.ศ. 2481 เนื่องจากไม่ไปประชุมประจำเดือนชาวบ้านจึงให้ลาออกและได้มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านคนที่ 5 คือนายชุม สุขล้วน ดำรงตำแหน่งในปีพ.ศ.2481 – 2504 ได้มีการสร้างโรงเรียนบ้านศาลาขึ้นในปี พ.ศ.2483 ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 6 คือนายอวด ปุ่มแม่น ดำรงตำแหน่งในปีพ.ศ.2504 - 2525 ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 7 คือนายพะยอม กลิ่นพิกุล ดำรงตำแหน่งในปีพ.ศ.2525 – 2535 ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 8 คือนายจรูญ มณฑล ดำรงตำแหน่งเมื่อปีพ.ศ.2535 จนถึง พ.ศ.2549 ได้ลงสมัครรับเลือกเป็นกำนันตำบลเทพรักษา และได้รับเลือกเป็นกำนันดำรงตำแหน่งจนถึงปัจจุบัน
ข้อมูลจากแผนชุมชนบ้านศาลา [5 พฤษภาคม 2550]
นางสุพรรษา วันไทย ผู้สำรวจ
ประวัติหมู่บ้านตาพราม
บ้านตาพราม เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ตั้งมาแล้ว 200 ปีเศษ เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ราษฎรได้อพยพมาจากถิ่นอื่นมาอาศัยอยู่ ต่อมามีพราหมณ์ได้เดินทางมาจากประเทศกัมพูชา มาพักอาศัยอยู่ชั่วคราวได้ปิดทำนบดินกันน้ำไว้อุปโภคและบริโภคในระหว่างพักอาศัยอย่าทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน บ้านตาพรามมีผู้ใหญ่บ้านมาแล้ว 15 คน ผู้ใหญ่บ้านคนแรกชื่อนายอินทร์ ซ่อนจันทร์ มีกำนันชื่อนายปรึก จันทร เดิมนั้นบ้านตาพราม ขึ้นหมู่ที่ 8 ตำบลดม อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ บ้านตาพรามหมู่ที่ 8 เป็นหมู่บ้านที่อุดมสมบูรณ์ในเรื่องแหล่งน้ำและพื้นที่การเกษตร มีนายบุญเรือง อุ้มทรัพย์ เป็นผู้ใหญ่บ้านตาพราม และเป็นกำนันคนแรกของตำบลเทพรักษา ซึ่งในปัจจุบันเป็นหมู่บ้านที่มีเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ในระดับพอใช้
ข้อมูลจากแผนชุมชนบ้านตาพราม [5 พฤษภาคม 2550]
นายศุภชัย นิลแก้ว ผู้สำรวจ
ประวัติหมู่บ้านตาแตรว
บ้านตาแตรว หมู่ 9 ตำบลเทพรักษา อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ หมู่บ้านได้จัดตั้งขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2475 รวมระยะเวลา 74 ปี มีพื้นที่ทั้งสิ้น 3,553 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่นา 3,120 ไร่ ที่อยู่อาศัย 423 ไร่ หมู่บ้านตาแตรวย้ายถิ่นฐานมาจากหมู่บ้านใกล้เคียงหลายหมู่บ้าน เช่น บ้านตาพราม บ้านดม เป็นต้น ซึ่งชื่อของหมู่บ้านนั้น เกิดจากการตั้งชื่อตามนกในหมู่บ้าน ซึ่งมีเสียงร้องว่า “ตาแตรว” จำนวนประชากรในปัจจุบันมีทั้งหมด 520 คน 115 ครัวเรือน เป็นชาย 254 คน หญิง 266 คน ประชากรส่วนใหญ่ เป็นเด็ก สตรี และคนชรา มีการย้ายถิ่นฐานออกไปทำงานในต่างพื้นที่เป็นการออกไปชั่วคราวในช่วงระยะเวลาประมาณ 1-3 เดือน หรือ 6-12 เดือน ประมาณ 100 คน โดยเมื่อย้ายกลับมาหรือเมื่อมีประชากรย้ายเข้ามาใหม่จะสามารถทำนา ทำสวน หรือทำไร่ แล้วแต่ความถนัน บ้านตาแตรวมีผู้ใหญ่บ้านคนแรกชื่อนายคำรณ โสภา ส่วนคนปัจจุบันชื่อนายสมบัติ พลศรี
ข้อมูลจากแผนชุมชนบ้านตาแตรว [5 พฤษภาคม 2550]
นางสาวเอมอร กล้าพร้อม ผู้สำรวจ
ประวัติหมู่บ้านทับทิมสยาม 04
บ้านทับทิมสยาม 04 เป็นหมู่บ้านในโครงการทับทิมสยาม 04 เดิมเป็นศูนย์อพยพชาวกัมพูชา “ไซค์บี” สืบเนื่องจาก พ.ศ.2518 สงครามกลางเมืองในกัมพูชาทวีความรุนแรง ส่งผลให้ชาวกัมพูชาต้องอพยพภัยสงคราม รัฐบาลไทยจึงได้รับผู้หนีภัยสงครามชาวกัมพูชาไว้ที่ศูนย์อพยพแห่งนี้ ซึ่งเป็นกลุ่มของเจ้านโรดมสีหนุ
ต่อมาสงครามสงบรัฐบาลไทย จัดส่งชาวกัมพูชากลับประเทศ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2535 ต่อมาสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ โดย ศจ.ดร.สมเด็จพระเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ฯ ได้จัดตั้งโครงการทับทิมสยาม 04 พื้นที่ 2,463 ไร่ 80 ตารางวา โดยแบ่งพื้นที่ปลูกบ้านจำนวน 200 ไร่ พื้นที่ทำการเกษตร ครอบครัวละ 4 ไร่ พื้นที่ประกอบอาชีพ 1 ไร่ โดยการดูแลของกองกำลังสุรนารีและได้รับการประกาศตั้งเป็นหมู่บ้านตามกฎหมายพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ.2540 โดยมีนายมณฑ จันทเลขา เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก ปัจจุบันมีนายสมปอง อนุวัยยา เป็นผู้ใหญ่บ้าน
บ้านทับทิมสยาม 04 ตั้งอยู่หมู่ที่ 10 ตำบลเทพรักษา อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ อยู่ทางทิศใต้ อำเภอสังขะ ติดชายแดนประเทศกัมพูชา โดยมีภูเขาพนมดงรักกั้นอยู่ เดิมตำบลเทพรักษาเป็นส่วนหนึ่งของตำบลดม ระยะทางห่างจากอำเภอสังขะ 27 กม. ห่างจากจังหวัดสุรินทร์ 90 กม.
อาณาเขต ทิศเหนือติดต่อชายแดนกัมพูชา จังหวัดสุรินทร์ ทิศตะวันตกติดต่อตำบลอาโพน อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์ ทิศตะวันออกติดต่อตำบลตาตุม อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์
ข้อมูลจากแผนชุมชนบ้านทับทิมสยาม 04 [5 พฤษภาคม 2550]
นางสาวอัมรา พิมพ์เชื้อ ผู้สำรวจ
ประวัติหมู่บ้านไพรพยัคฆ์
ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านไพรพยัคฆ์ ประมาณ พ.ศ.2520 บ้านตาพรามมีประชากรมากเกินที่จะสามารถให้ความดูแลอย่างทั่วถึง นายบุญเรือง อุ้มทรัพย์ และคณะกรรมการหมู่บ้านในขณะนั้น คือนายสมพงษ์ พลศรี นายใบ ยิ่งเชี่ยว นายซึ่ง เทพนาค และนายนิวงษ์ พิมพ์เสน จึงทำเรื่องขอแยกหมู่บ้านจากบ้านตาพรามเป็น 2 หมู่บ้าน โดยใช้ชื่อว่า “บ้านไพรพยัคฆ์” โดยอาจารย์นิวงษ์ พิมพ์เสน ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านตาพราม เป็นคนในพื้นที่บ้านไพรพยัคฆ์โดยกำเนิด เป็นผู้เสนอชื่อขึ้นมา เนื่องจากให้เหตุผลว่า เดิมบริเวณหมู่บ้านมีเสืออาศัยอยู่จำนวนมาก หรือเรียกอีกอย่างว่าเสือป่า และชาวบ้านจึงเห็นด้วยกันให้ชื่อดังกล่าว เป็นชื่อหมู่บ้านและเป็นหมู่บ้านอันดับที่ 11 ของตำบลเทพรักษา โดยมีนายสมพงษ์ พลศรี เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก ได้มีการก่อตั้งและพัฒนาการสร้างถนนทางเกวียนเพื่อใช้ในการสัญจรไปมาให้สะดวกขึ้น และในปี 2540 บ้านไพรพยัคฆ์ได้รับการยกฐานะเป็นหมู่บ้านในตำบลเทพรักษา อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์
ข้อมูลจากแผนชุมชนบ้านไพรพยัคฆ์ [5 พฤษภาคม 2550]
นางสาวพินัดดา คำสนิท ผู้สำรวจ
ประวัติหมู่บ้านสะเดาพัฒนา
บ้านสะเดาพัฒนา แยกหมู่บ้าน บ้านชำเบงหมู่ที่ 5 จัดตั้งเป็นหมู่บ้านใหม่อีก 1 หมู่บ้าน ชื่อหมู่บ้านสะเดาพัฒนา หมู่ที่ 12 ตำบลเทพรักษา และมีอาณาเขตดังนี้ ทิศเหนือ ติดกับหมู่บ้านภูมินิยม หมู่ที่ 10 ตำบลตาตุม โดยมีเขตเริ่มต้นจากจุดกึงกลางทางเกวียน บริเวณพิกัด ยูบี 722037 ไปตามทิศตะวันออกตามทุ่งนา สิ้นสุดที่จุดกึ่งกลางถนนดิน บริเวณพิกัด ยูบี 760042 ทิศตะวันออก ติดต่อกับหมู่บ้านชำเบง หมู่ที่ 5 ตำบลเทพรักษา โดยมีแนวเขตเริ่มต้นที่จุดกึ่งกลางถนน บริเวณพิกัด ยูบี 760042 ไปทางทิศใต้ตามแนวคันนา สิ้นสุดที่จุดกึ่งกลางถนนลาดยางสายบ้านจารย์ โคกไทร บริเวณพิกัด ยูบี 755017 ทิศใต้ ติดต่อกับบ้านเทพรักษา หมู่ที่ 1 ตำบลเทพรักษา เริ่มต้นจากจุดกลางถนนลาดยางสายบ้านจารย์ โคกไทร บริเวณพิกัด ยูบี 755017 ไปทางทิศตะวันออก ตามแนวกึ่งกลางถนนลาดยาง สิ้นสุดที่จุด กึ่งกลางถนนลาดยางสายบ้านจารย์ โคกไทร บริเวณพิกัด ยูบี 734007 ทิศตะวันตก ติดกับบ้านปวงตึก หมู่ที่ 3 ตำบลตาตุม โดยมีเขตเริ่มต้นจากจุดกึ่งกลางถนนลาดยางสายบ้านจารย์ โคกไทร บริเวณพิกัด ยูบี 734007 ไปทางทิศเหนือตามแนวเกวียน สิ้นสุดที่จุดกึ่งกลางทางเกวียน บริเวณพิกัด ยูบี 722037
ข้อมูลจากแผนชุมชนบ้านสะเดา [5 พฤษภาคม 2550]
นางสาวจีรนุช บุญเกื้อ ผู้สำรวจ
ประวัติบ้านลันแต้อุดมสุข
บ้านลันแต้อุดมสุข หมู่ที่ 13 ตำบลเทพรักษา อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ เดิมตั้งอยู่ที่บ้านลันแต้ หมู่ที่ 5 ตำบลเทพรักษา อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ โดยมีนายยัด เอิบสุข เป็นผู้นำหมู่บ้าน/ผู้ใหญ่บ้าน ต่อมานายยัด เอิบสุข ผู้ใหญ่บ้านพร้อมด้วยคณะกรรมการหมู่บ้านเข้าร่วมประชุมและได้ยุติการประชุมว่า บ้านลันแต้หมู่ที่ 6 เป็นหมู่บ้านที่ใหญ่และมีประชากรเป็นจำนวนมาก จึงเห็นชอบขอแยกการปกครองหมู่บ้านลันแต้หมู่ที่ 6 ตำบลเทพรักษา อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ ออกเป็น 2 หมู่บ้าน เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ.2547 โดยมีนามเรียกขานว่า บ้านลันแต้อุดมสุข หมู่ที่ 13 ตำบลเทพรักษา อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ โดยนายเวา มณฑล ได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก
ข้อมูลจากแผนชุมชนบ้านลันแต้อุดมสุข [5 พฤษภาคม 2550]
นางสาวน้ำทิพย์ สูตรสุข ผู้สำรวจ
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล
หน้าที่ 5 เล่มที่ 113 ตอนที่ 9 ง ราชกิจานุเบกษา 30 มกราคม 2539
|