โครงการส่งเสริมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
( กิจกรรมปลูกต้นไม้และหญ้าแฝกเฉลิมพระเกียรติ )
1. บทนำตามแนวพระราชดำริองค์มหาราชาแห่งเมืองสยาม
การจัดการป่าไม้ยั่งยืน : ปลูกป่าทดแทนบริเวณต้นน้ำลำธาร
ด้วยทรงตระหนักในสมดุลของธรรมชาติอย่างลึกซึ้งได้ทรงดัดแปลงวิธีการสร้างป่าเพื่อการยังชีพของประชาชน อันแฝงประโยชน์ทั้งด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำไว้ด้วย ทรงเน้นวิธีการฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรมเพื่อให้ได้ป่าธรรมชาติดั้งเดิมในเวลาที่รวดเร็ว ด้วยวิธีที่เรียบง่ายประหยัด ทรงเริ่มปรับสภาพที่เอื้ออำนวยให้เกิดป่าขึ้นก่อนและพระราชทานแนวทางในการปลูกป่าทดแทนตามแหล่งต้นน้ำสาขาบนภูเขา ตลอดจนบริเวณอ่างเก็บน้ำและพื้นที่ทั่วไป ดำเนินการอยู่บนพื้นฐานของกฎแห่งธรรมชาติ อาศัยวงจรชีวิตของป่า ให้ป่าได้มีเวลาในการสร้างตัวเองขึ้นใหม่เพื่อมีสภาพเป็นป่าธรรมชาติ วิธีการปลูกป่าตามแนวพระราชดำริ ได้แก่ การปลูกป่าจากดินเขาหรือไหล่เขาสู่เชิงเขา การปลูกป่าบนพื้นที่สูง โดยทรงคำนึงถึงธรรมชาติของต้นไม้บางชนิดที่มีฝักหรือเมล็ดสามารถกระจายพันธุ์ได้เองตามธรรมชาติ เช่น ลอยตกลงจากสันเขาลงมายังที่ต่ำ หรืออาศัยนกบินมากินเมล็ดแล้วไปถ่ายตามที่ต่างๆ เมื่อเมล็ดเหล่านั้นได้รับน้ำและความชื้นในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ก็จะงอกเป็นต้นอ่อนและเจริญเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ อันเป็นการปลูกป่าโดยไมต้องปลูก (Natural Reforestation) เพียงแต่ควบคุมมิให้มีคนเข้าไปรบกวน ป้องกันมิให้เกิดไฟป่า และปล่อยให้ป่าได้ค่อยๆ ฟื้นตัวเองตามธรรมชาติ เมื่อทิ้งช่วงเวลาไว้ระยะหนึ่ง พรรณไม้ต่างๆ ก็จะค่อยเจริญเติบโตขึ้นเป็นสภาพป่าที่หนาทึบและสมบูรณ์ในอนาคต
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช พระราชทานคำแนะนำถึงพันธุ์ไม้ที่จะนำมาปลูกป่าบนที่สูงนี้ว่า ควรเป็นพันธุ์ไม้ดั้งเดิมของภูมิประเทศนั้นๆ เป็นไม้มีเมล็ด ไม้ผลัดใบง่ายราคาถูก เช่น กระถินยักษ์ กระถิน เป็นต้น
2. หลักการและเหตุผล
ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันเกิดปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ตำบลเทพรักษา อยู่ในขั้นวิกฤติและส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม แนวทางการแก้ไขปัญหา ได้แก่ การป้องกันรักษาทรัพยากรป่าไม้ที่เหลือให้คงอยู่ และการฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ที่เสื่อมโทรมให้ฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน สำหรับการฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้โดยการปลูกป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่มีสภาพเสื่อมโทรม เช่น เขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า พื้นที่ต้นน้ำลำธาร ฯลฯ และการปลูกป่าในพื้นที่สาธารณะในเขตชุมชนท้องถิ่น เช่น บริเวณโรงเรียน วัด สถานที่ราชการ ฯลฯ จะก่อให้เกิดประโยชน์ในการฟื้นฟูสภาพป่าอนุรักษ์ที่เสื่อมโทรมและการฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นนั้นๆ ทำให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นอกจากนี้ การส่งเสริมให้ราษฎรในท้องถิ่นได้มีโอกาสร่วมกิจกรรม จะเป็นการช่วยปลูกฝังจิตสำนึกให้ราษฎรในท้องถิ่นได้มีใจรักต้นไม้รักป่าไม้ หวงแหนทรัพยากรป่าไม้และรักษาสิ่งแวดล้อม อันเป็นการสร้างแนวร่วมในการช่วยแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อม เนื่องในโอกาสมหามงคลวันเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สนองพระราชดำริการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพิ่มพื้นที่ป่าไม้ของประเทศตามนโยบายของรัฐบาล ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม – 31 สิงหาคม 2565 รัฐบาล หน่วยงานภาครัฐ เอกชน องค์กร มูลนิธิและประชาชนทุกหมู่เหล่าต่างรู้สึกปิติยินดีและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้
องค์การบริหารตำบลเทพรักษา ได้เล็งเห็นความสำคัญของปลูกต้นไม้ การดูแล บำรุงรักษาป่าไม้และผลกระทบจากปัญหาที่เกิดขึ้น ได้ร่วมกับส่วนราชการในพื้นที่ตำบลเทพรักษา จัดดำเนินกิจกรรมปลูกต้นไม้เฉลิมพระเกียรติ ตามโครงการส่งเสริมอนุรักษ์อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใต้นโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เพื่อส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารส่วนตำบลเทพรักษาในฐานะที่มีหน้าที่รับผิดชอบตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 6 พ.ศ.2552 มาตรา67 (7) โดยกำหนดให้ องค์การบริหารส่วนตำบลมีหน้าที่ต้องคุ้มครอง ดูแล และบำรุงรักษาทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล ร่วมกับส่วนราชการและประชาชนในพื้นที่ตำบลเทพรักษา
3. วัตถุประสงค์
3.1 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
3.2 เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว ลดโลกร้อน ลดก๊าซเรือนกระจก ดูดซับน้ำตามธรรมชาติ นำความชุ่มชื้นมาสู่ชุมชน
3.3 เพื่อช่วยในการอนุรักษ์ดินและน้ำ ลดการชะล้างพังทลายของหน้าดิน เก็บกักตะกอนดินในพื้นที่ลาดชัน
3.3 เพื่อส่งเสริมให้องค์กรปกครองท้องถิ่น ชุมชน และประชาชนมีจิตสำนึกได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ทรัพยากรป่าไม้และฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ
4. เป้าหมายและพื้นที่ดำเนินการ
4.1 พื้นที่สาธารณะประโยชน์ในเขตชุมชนตำบลเทพรักษา
4.2 ผู้เข้าร่วมโครงการประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการ คณะผู้บริหาร สมาชิกสภา พนักงาน/ลูกจ้างองค์การบริหารส่วนตำบลเทพรักษา ผู้นำชุมชนทั้ง 13 ชุมชน และประชาชนจิตอาสาทั้ง 13 หมู่ เป็นต้น
5. ระยะเวลาดำเนินงาน
ระหว่างวันที่ 10 – 31 สิงหาคม 2565
|