: สรุปผลดำเนินงานโครงการเทิดทูนสถาบันสร้างความสมานฉันท์ของชาติ
( กิจกรรมจิตอาสาพัฒนาในโอกาสวันสำคัญของชาติ )
บทนำ
ในหลวง ร.10 พระราชทานโครงการ "จิตอาสาเราทำความดี ด้วยหัวใจ" เพื่อส่งเสริมให้คนไทยสมัครสมานสามัคคี สร้างสรรค์ความดีเพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติ ไม่หวังสิ่งตอบแทนจากโครงการ “จิตอาสาพระราชทาน 904 วปร.” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเกิดขึ้นจากน้ำพระราชหฤทัยอันเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตาของพระองค์ที่ทรงทุ่มเทพระวรกาย ปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ โดยคำนึงถึงความอยู่ดีมีสุขของราษฎรเป็นสำคัญ และทรงมีพระราชปณิธานที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบรมราชชนกที่ได้ทรงพระราชทานไว้เป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาประเทศ ต่อมาทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อใหม่เป็น "โครงการจิตอาสาเราทำความดี ด้วยหัวใจ" โดยพระราชทานโครงการดังกล่าวเพื่อส่งเสริมให้พสกนิกรชาวไทยทุกคน มีความเสียสละ และความสมัครสมานสามัคคี ในการสร้างสรรค์ความดี เพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติ
สำหรับ จิตอาสาตามพระราโชบาย แบ่งเป็น 3 ประเภท ดังนี้
1.จิตอาสาพัฒนา ได้แก่ กิจกรรมจิตอาสาพระราชทานที่ทำเพื่อพัฒนาท้องถิ่นของแต่ละชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมบำเพ็ญ สาธารณประโยชน์ การอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการดำรงชีวิตประจำวันการประกอบอาชีพ รวมทั้งการสาธารณสุข ฯลฯ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่กระทำได้ตลอดเวลา
2..จิตอาสาเฉพาะกิจ ได้แก่ กิจกรรมจิตอาสาพระราชทานที่มีวัตถุประสงค์ให้ปฏิบัติในงานพระราชพิธี หรือการรับเสด็จ ในโอกาสต่างๆ เป็นการใช้กำลังพลจิตอาสาร่วมปฏิบัติกับ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือหรืออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่มาร่วมงานรวมทั้งการเตรียมการ การเตรียมสถานที่และการฟื้นฟูสถานที่ภายหลัง การปฏิบัติในพระราชพิธี และการเสด็จฯ นั้นๆ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
3. จิตอาสาภัยพิบัติ ได้แก่ กิจกรรมจิตอาสาพระราชทานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเฝ้า ตรวจ เตือน และเตรียมการรองรับภัยพิบัติทั้งที่เกิดจากธรรมชาติ และเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่โดยรวมและการเข้าช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากภัยพิบัติ ดังกล่าว เช่น อุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย เป็นต้น
หลักการและเหตุผล
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยลำดับที่ 18 แห่งราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ทรงเป็นพระโอรสองค์โตของพระสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าและพระวิสุทธิกษัตรีย์ ภายหลังจากการเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่า สมเด็จพระนเรศวรได้ถูกนำเป็นองค์ประกันที่เมืองหงสาวดี ในระหว่างที่พำนักอยู่ที่นั่น พระองค์ได้ศึกษาวิชาความรู้ ความสามารถต่างๆ ด้วยความหวังที่แรงกล้าว่าจะได้กลับมากู้ชาติกู้แผ่นดินอีกครั้ง แต่ด้วยความที่สมเด็จพระนเรศวรเป็นผู้ที่มีความกตัญญูรู้คุณ พระองค์จึงไม่อยากทำการใดๆ ในระหว่างที่พระเจ้าบุเรงนองยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ แต่พอภายหลังการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าบุเรงนอง สมเด็จพระนเรศวรก็ได้กลับมายังพระนครศรี อยุทธยาบ้านเกิดอีกครั้ง และด้วยความสามารถที่เป็นเลิศทางด้านการศึกของพระองค์ โดยเฉพาะการทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา ก็ทำให้พระองค์สามารถกู้บ้านเมืองคืนมาได้อีกครั้ง จนเป็นที่น่าเกรงขามของข้าศึก ดังนั้นในฐานะที่เราเป็นคนไทย เกิดบนแผ่นดินไทย เราทุกคนจึงควรตระหนักในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
หมั่นทำความดีและดูแลบ้านเมืองให้สงบสุข และที่สำคัญที่สุดคือควรสามัคคี เพื่อที่เราจะได้อยู่กันอย่างสงบ และเพื่อตอบแทนพระคุณของพระองค์ท่าน ที่ได้ทรงเสียสละเลือดเนื้อเพื่อปกป้องรักษาแผ่นดินไทยของเราให้ได้อยู่มาจนถึงทุกวันนี้
องค์การบริหารส่วนตำบลเทพรักษา ในฐานะองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนในชุมชนมากที่สุด โดยได้อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ถึงฉบับที่ 6 พ.ศ.2552 มาตรา 67 (ข้อ 2) ให้องค์การบริหารส่วนตำบล มีหน้าที่ รักษาความสะอาดของถนน ทางน้ำ ทางเดิน และที่สาธารณะ รวมทั้งกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล ประกอบกับพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 มาตรา 16 (2) ให้เทศบาล เมืองพัทยา และองค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบการบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเอง จัดให้มีและบำรุงรักษาทางบก ทางน้ำ และทางระบายน้ำ จึงได้จัดโครงการจิตอาสาพระราชทาน เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศภายใต้หลักเกณฑ์ที่กำหนดของจังหวัดสุรินทร์และภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 8 ด้านด้านบริหารจัดการบุคลากรและการบริการประชาชน ที่ปรากฏตามแผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ.2566 – 2570) หน้าที่ 156 ลำดับที่ 3
วัตถุประสงค์
1. เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
2. เพื่อส่งเสริมให้หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนราชการ ตลอดจนภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ตำบลเทพรักษาได้ตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลรักษาความสะอาด บริบทของหมู่บ้าน
3. เพื่อสร้างความรักความสามัคคี “ร่วมคิด ร่วมทำ” ของบุคลากรในสังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลเทพรักษา ส่วนราชการและประชาชนในท้องถิ่น
เป้าหมายและพื้นที่ดำเนินการ
1. พื้นที่สาธารณะประโยชน์ อาคารอเนกประสงค์ อาคารทรงงาน และถนนภายในโครงการทับทิมสยาม 04 หมู่ที่ 10 ตำบลเทพรักษา อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์
2. ผู้เข้าร่วมโครงการประกอบด้วย คณะผู้บริหาร สมาชิกสภา พนักงาน/ลูกจ้างองค์การบริหารส่วนตำบลเทพรักษาหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชนทั้ง 13 ชุมชน ประชาชนจิตอาสาทั้ง 13 หมู่ คณะครูและนักเรียนจำนวน 250 คน
ระยะเวลาดำเนินงาน
วันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2566
แผนการดำเนินงาน
1. เสนอโครงการ/กิจกรรม/แต่งตั้งคณะกรรมการโครงการ
2. ประชุมคณะกรรมการโครงการ / จัดทำแผนดำเนินงาน
3. ติดต่อประสานงานหน่วยงานอื่นเพื่อการทำงานแบบบูรณการ
4. ดำเนินงานตามโครงการ/กิจกรรม
5. ติดตามประเมินผล
6. สรุปผลและประเมินผลการดำเนินงานตามโครงการ/กิจกรรม
7. รายงานผลการดำเนินการ
วิธีการดำเนินงาน
1. ประธานในพิธี คณะผู้บริหาร สมาชิกสภา หัวหน้าส่วนราชการ ประชาชนจิตอาสา ประชาชนทั่วไป คณะครูและนักเรียน ร่วมพิธีน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในโอกาสวันสำคัญของชาติ กิจกรรมจิตอาสา “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ”
2. ประธานในพิธี คณะผู้บริหาร สมาชิกสภา หัวหน้าส่วนราชการ ประชาชนจิตอาสา ประชาชนทั่วไป คณะครูและนักเรียน ร่วมกิจกรรมปรับปรุงบริบททิวทัศน์ตัดแต่งกิ่งไม้ ตัดหญ้าตามเส้นทางภายในโครงการทับทิมสยาม 04 ให้สวยงาม
งบประมาณและค่าใช้จ่ายในโครงการ
ตามข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. ๒๕66 ยุทธศาสตร์ที่ 8 ด้านบริหารจัดการพัฒนาบุคลากรและการบริการประชาชน แผนงานบริหารงานทั่วไป งานบริหารทั่วไป หมวดค่าใช้สอย ประเภทรายจ่ายเกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติราชการที่ไม่เข้าลักษณะรายจ่ายหมวดอื่นๆ รายการโครงการเทิดทูนสถาบันสร้างความสมานฉันท์ ที่ปรากฏตามแผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ.2566 – 2570) หน้าที่ 156 ลำดับที่ 3
ผู้รับผิดชอบโครงการ
องค์การบริหารส่วนตำบลเทพรักษา อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์
ผลที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการ
1. เป็นการเฉลิมพระเกียรติและแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
2. เป็นการส่งเสริมให้หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนราชการ ตลอดจนภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ตำบลเทพรักษาได้ตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลรักษาความสะอาดบริบทของหมู่บ้าน
3. เป็นการสร้างความรักความสามัคคี “ร่วมคิด ร่วมทำ” ของบุคลากรในสังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลเทพรักษา ส่วนราชการและประชาชนในท้องถิ่น
ตัวชี้วัดโครงการ
เชิงปริมาณ – จำนวนประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมไม่น้อยกว่าร้อยละ 80
เป้าหมายตามโครงการ 250 คน มีกลุ่มเป้าหมายได้แก่คณะผู้บริหาร สมาชิกสภา หัวหน้าส่วนราชการ ประชาชนจิตอาสา ประชาชนทั่วไป คณะครูและนักเรียน เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 200 คน คิดเป็นร้อยละ 80
เชิงคุณภาพ – องค์การบริหารส่วนตำบลเทพรักษามีหมู่บ้านที่มีบริบทภูมิทัศน์สวยงาม มีสิ่งแวดล้อมที่ดี
อาคารอเนกประสงค์โครงการทับทิมสยาม 04 หมู่บ้านที่ 10 บ้านทับทิมสยาม 04 ตำบลเทพรักษา อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ มีบริบทภูมิทัศน์สวยงามและสิ่งแวดล้อมที่ดี
ปัญหา/ข้อเสนอแนะ
ไม่พบอุปสรรคในการดำเนินโครงการ / เป็นโครงการจิตอาสาได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี
ขอขอบคุณบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการทุกท่าน ที่ให้ความร่วมมือในการดำเนินงานตามโครงการและประเมินโครงการส่งเสริมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนด ซึ่งได้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์การบริหารส่วนตำบลเทพรักษา และผู้เกี่ยวข้องสำหรับใช้ในการพัฒนางาน ให้มีความก้าวหน้าต่อไป
|